ชลประทาน.เดินหน้า แก้ปัญหาน้ำท่วม อ.บางสะพาน

ติดตามข่าว ประจวบโพสต์
  • 24
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
    24
    Shares

ชลประทาน.เดินหน้า แก้ปัญหาน้ำท่วม อ.บางสะพาน

กรมชลประทาน โชว์ผลสำเร็จโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาน้ำท่วมได้มากกว่าปี 60 แม้จะยังไม่แล้วเสร็จทั้งโครงการฯ เดินหน้าเร่งรัดโครงการให้สำเร็จตามแผนในปี 68 เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมบางสะพานในระยาว


วันที่ 21 พ.ย.2561  ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมอำเภอบางสะพาน เมื่อวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2561 สาเหตุจากฝนตกหนักต่อเนื่องกัน 2 วัน วัดปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยได้มากถึง 293 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นฝนที่มีปริมาณมากกว่าปกติ และตกครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำคลองบางสะพาน ก่อนจะไหลลงในลำน้ำ 4 สาย ประกอบด้วย คลองทอง คลองลอย คลองขนาน และคลองยางขวาง ไปรวมกันที่คลองบางสะพานช่วงสะพานวังยาว จากลักษณะทางกายภาพของภูมิประเทศเป็นพื้นที่ลาดเอียงจากเทือกเขาตะนาวศรี ด้านทิศตะวันตกลงสู่ที่ราบชายทะเลด้านทิศตะวันออก โดยมีถนนเพชรเกษมแบ่งพื้นที่เป็น 2 ฝั่ง ความลาดชันช่วงบนก่อนถึงถนนเพชรเกษมมีความลาดชันสูง ทำให้เกิดน้ำไหลหลากจากคลองสาขาลงคลองบางสะพานอย่างรวดเร็ว ไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่อำเภอบางสะพานเป็นที่ราบลุ่มแอ่งกระทะมีทางระบายน้ำออกสู่ทางทะเลเพียงทางเดียว โดยในช่วงเกิดเหตุการณ์มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีตรวจวัดทางอุทกวิทยา Gt.7 สะพานวังยาว อัตราการไหลสูงสุด 926 ลบ.ม.ต่อวินาที คิดเป็นปริมาณน้ำท่า 62.19 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำจากสะพานวังยาวถึงชุมชนบางสะพานใช้เวลา 5 ชั่วโมง ขณะที่คลองบางสะพานบริเวณชุมชนบางสะพานมีศักยภาพสามารถระบายน้ำในปัจจุบันได้เพียง 240 ลบ.ม./วินาที ทำให้เกิดน้ำท่วมระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งคลองบางสะพานที่สถานี Gt.20 สะพานโรงเรียนอนุบาลบางสะพาน สูงสุด 1.13 เมตร และไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนบางสะพาน ตั้งแต่วันที่ 8 – 11 พฤศจิกายน 2561 รวมเวลา 44 ชั่วโมง หรือ 1 วัน 20 ชั่วโมง

หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมบางสะพานเมื่อปีที่ผ่านมา ช่วงระหว่างวันที่ 8 – 11 มกราคม 2560 เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง 3 วัน วัดปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยได้ 330 มิลลิเมตร ระดับน้ำล้นตลิ่งที่สถานี Gt.20 สูงสุด 2.10 เมตร เข้าท่วมชุมชนบางสะพาน ใช้เวลา 77 ชั่วโมง หรือ 3 วัน 5 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่าปริมาณฝนและปริมาณน้ำท่า ปี 2561 ต่ำกว่าปี 2560 เพียงเล็กน้อย แต่กลับพบว่าระดับน้ำที่ท่วมในปี 2561 ต่ำกว่าปี 2560 อยู่ถึง 97 เซนติเมตร ระยะเวลาที่น้ำท่วมก็น้อยกว่าถึง 33 ชั่วโมง หรือ 1 วัน 9 ชั่วโมง

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากคลองบางสะพานสามารถระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยได้ดีขึ้น จากการดำเนินการโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของกรมชลประทาน ที่ได้ทำการขุดขยายคลอง บางสะพานจากปากอ่าวไทยขึ้นมาได้ระยะทาง 10 กิโลเมตร พร้อมเสริมมาตรการด้วยการใช้รถแบ็คโฮจำนวน 6 คัน ขุดตะกอนทรายคลองปากปิดกว้างประมาณ 100 เมตร เพิ่มช่องทางระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยได้รวดเร็วขึ้น ทำให้ระยะเวลาและระดับน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางสะพานใน ปี พ.ศ. 2561 ลดลงอย่างรวดเร็ว


ปัจจุบันโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพานฯ สามารถขุดขยายคลองบางสะพานได้กว่า 10 กิโลเมตร จากปากอ่าว ช่วยให้การระบายน้ำลงทะเลได้ดีในช่วงอุทกภัยที่ผ่านมา รวมทั้งการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ ขนาดเล็กบริเวณต้นน้ำทั้ง 3 แห่ง สามารถรองรับปริมาณน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง รวมไปถึงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและคลองผันน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลุ่มน้ำบางสะพานให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต


ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่าว่า   หากสามารถดำเนินการโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพานฯ ได้แล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของคลองบางสะพาน ให้สามารถรับน้ำได้ 1,025 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยตัดยอดปริมาณน้ำท่าที่เป็นสาเหตุเกิดอุทกภัยได้ถึง 31 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้ในฤดูแล้ง สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 15,450 ไร่ สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในลุ่มน้ำบางสะพาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมบางสะพานในครั้งนี้ ระยะเวลา ความรุนแรง และความเสียหายได้ลดน้อยลงเป็นอย่างมาก เป็นผลมาจากหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมบางสะพานในปี พ.ศ. 2560

ขณะนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบโยบายให้กรมชลประทานน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำมาใช้ในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหา น้ำท่วม ปัญหาน้ำแล้ง และปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำที่เกิดขึ้น ดังนั้น กรมชลประทาน จึงได้น้อมนำพระราชดำรัสของ รัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานไว้เมื่อปี 2547 โดยสรุปความว่า “พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนจรดจังหวัดชุมพร มีปริมาณน้ำในลำห้วยต่างๆ เป็นจำนวนมากที่ไหลลงทะเล ให้กรมชลประทานพิจารณาวางแผนสร้างแหล่งเก็บกักน้ำต่างๆ ตามความเหมาะสมไว้ใช้ประโยชน์ให้กับราษฎรและเพิ่มช่องระบายน้ำผ่านถนนและคลองระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยด่วนต่อไป” มาใช้ในการวางแผนดำเนินงานโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” ดร.ทองเปลวฯ กล่าวในที่สุด

ข้อมูล/ภาพ กรมชลประทาน

ประจวบโพสต์นิวส์/Prachuppostnews

  • 24
    Shares